KSN

/
/
สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)

“สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร)

****************************************************

ประวัติ “สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20” ในรัชกาลที่ 10 จัดพิธีสถาปนาในวันที่12ก.พ.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงสื่อมวลชน (7ก.พ.) ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาและเมื่อคืนวันที่ 6 ก.พ. ได้รับแจ้งว่าทรงโปรดเกล้าฯ สมเด็จพระมหามุณีวงศ์ วัดราชบพิธ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ จะจัดงานพิธีสถาปนาในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 17.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

ประวัติ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เดิมชื่อ อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

การบรรพชาอุปสมบท
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์

 

ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

 

การศึกษาพระปริยัติธรรม
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโทและ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

 

เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก

ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. ๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

 

ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

 

ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

 

ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ[3]

 

ตำแหน่งปัจจุบัน
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
กรรมการมหาเถรสมาคม
กรรมการคณะธรรมยุต
กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต
ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
แม่กองงานพระธรรมทูต

 

สมณศักดิ์
พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี
พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี
พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์
พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์
พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ
พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (ข้อมูลจาก-วิกิพีเดีย)

ข่าวล่าสุด

หมวดหมู่ข่าว